Monthly Archives: June 2013

มาสโลว์ : จิตใจของ “คน” ยากแท้หยั่งถึง?

** ก่อนอ่านความเห็น ลงไปอ่านเรื่องของมาสโลว์ข้างล่างก่อน **
เป็นเวลานานแสนนานมาแล้วตั้งกะมีลิงเดินสองขาขึ้นมาบนโลกนี้ ที่มนุษย์เฝ้าศึกษาตัวเองว่าทำไมความคิดพฤติกรรมเรามันซับซ้อนมากขึ้น ๆ
หลายการเปรียบเทียบว่าทำไรเขาไม่เหมือนเรา เราไม่เหมือนเขา ทำไมเขาต้องทำแบบนั้นโน้นนี้
จนพี่มาสโลว์จุติมาบนโลก และ ค้นพบทฤษฎีนี้ขั้นมา จนบัดนี้ก็ยังเป็นสิ่งที่อธิบายพฤติกรรมมนุษย์อย่างกว้างขวาง
เราลองอ่านข้อสรุปพวกนี้ดู เราจะเข้าใจเหตุกาณ์หลาย ๆ อย่างรอบตัวเราขณะนี้
เช่น การแก้ปัญหาหลายอย่าง ถูกกำหนดโดยคนที่อยู่ในขั้นความต้องการที่สาม เพื่อมาแก้ปัญหาของคนที่ยังอยู่ในความต้องการขั้นที่หนึ่ง ยังไงมันก็ไม่เข้าใจกัน มันก็ขัดแย้งกันแบบนี้
ทำไมคนถึงสับสนและกระจายข่าว ๆลบ ๆ เรื่องงานขณะนี้กันมากขึ้น เพราะเริ่มรู้สึกว่า ขั้นที่สอง (ความมั่นคง ปลอดภัย) จะถูกกระทบ และ ตัวเองต้องกลับมาสนองขั้นที่หนึ่ง (กายภาพ) หาเงิน หางาน ผ่อนบ้านผ่อนรถ มากมาย
หลาย ๆคนยังวนว่ายอยู่ขั้นหนึ่งและสองไม่ว่าจะเงินเท่าใด มากน้อยยังไง ขณะที่การแสวงหาความรักก็มีกัน (ขั้นที่สาม) ทั้งรักจากเพื่อนในกลุ่ม พี่น้อง แม้แต่ที่ทำงาน จริง ๆ เราแสวง แต่เราตัดตอนทำร้ายกันเอง เพราะเราสนองขั้นที่สองมากกว่า (อยากมั่นคง ต้องเตะตัดขาคนอื่นให้เลว ให้ดูแย่ ลงไป) ใครได้ดีกว่า ก็ใส่ร้าย กดขี่ เหยียดหยาม ประนาม ทั้งหมดทั้งปวง เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดีกว่า มั่นคงกว่า หลายคนชอบข่าวเม้าท์ดาราก็เพราะแบบนี้ คือ อยากรู้เรื่องคาว ๆ แย่ ๆ ของเขา เพื่อปลอบใจตนเองว่า มันก็เลวพอ ๆ กันแหละวะ ไม่ใช่เลอเลิศไปกว่าเราเลย ฯลฯ
เมื่อขั้นสองและสามเน่า คือไม่มีความรักจริงใจมาจากสังคมที่ตนมี ก็ไปแสวงเอาจากสิ่งอื่น หมาแมว Social Network โชว์ร่ำโชว์รวย อวดเงินทองของกันเข้าไป แต่จริง ๆ แสวงหาอย่างมาก
หัวหน้างานที่นี่หลายคนทะเยอทะยานจะไปขั้นที่สี่ คือ การแสวงหาการยกย่อง (ดดยไม่สนใจว่าผ่านขั้นสามมาหรือยัง) ถ้าการยอมรับยกย่องนั้นไปด้านบนเหนือขึ้นไปไม่ได้ ก็จะบานออกข้าง หรือ ลงล่างโดยการอวดอ้างอิทธิฤทธิ์ อวดศักดา เต๊าข่าว ว่าแน่ ว่าลึก เพื่อให้คนรอบข้างยอมรับนับถือให้เกียรติยกย่อง (ทั้งที่จริง ๆไม่เลย) นั่นก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของผู้ที่แสวงหาการยอมรับ ลองมองดูไปรอบ ๆ เราจะเห็นพวกคนแบบนี้มากไปหมด อยากให้คนยกมือไหว้ นับถือ แต่ทำตัวไม่น่าไหว้ หรือไหว้แล้วเสียมือก็เยอะ ระดับพนักงานเองจะเห็นว่าบางคนขาดการยอมรับในสังคมการทำงาน ก็จะไประบายกับคนที่ตัวเองทำได้ เช่นลูกเมีย ต้องฟัง ต้องเชื่อ ลงไม้ลงมือกันก็มี หลายคนมีสามีหรือภรรยาทำงานในสถานะที่ต่างกันมาก ๆ พูดอะไรก็ไม่ยอมรับกัน เป็นปม ก็จะเห็นการตบตีกันเยอะแยะ (การลงไม้ลงมือเป็นการแสดงอำนาจดิบของมนุษย์อย่างหนึ่ง) อีกประเภทก็ประเภทคู่ที่ไม่เสริมกันดูถูกกันตลอดเวลาว่าโง่ว่าจนว่านั้นโน่นนี่ นี่ก็มีผลทำให้คนไม่พอใจกัน
ขั้นสุดท้ายนั้น ก็มีให้เห็นนะพวกสุดขั้ว พวกนี้มั่นใจ(เอง)เกินร้อยว่าตัวเองแน่ เจ๋ง ถูกไปหมด รอบรู้ แต่ตามตำราบอกไว้ว่า ต้องประกอบด้วยคุณธรรมนำพาไปด้วย ถ้าชั่วนำก็จมกระเบื้องเลย พวกนี้ยื้อไม่หยุดฉุดไม่อยู่ เป็นความโชคร้ายของเขาที่ผ่านสิ่งแวดล้อมแบบประจบสอพลอมาซะเคยตัว (คนผ่านแบบนั้น โดยทั่วไปตัวเองก็เป็นแบบนั้น) ขณะที่ถ้าคนนั้นเป็นคนมีคุณธรรมก็จะปลดปล่อยสิ่งดี ๆ ออกมาไม่หยุดหย่อน เพราะเป็นการตอบสนองความต้องการขั้นสูงสุดแล้ว บางคนหอบเงินทองปสร้างวัดสร้างวิหาร ปลีกตัวเองไปช่วยเหลือมนุษย์ด้วยกัน ไปช่วยช้างในป่าเป็นสิบ ๆ ปี ฯลฯ นั่นคือสุดขั้วไปแล้ว ไม่มีความต้องการอะไรอีกแล้ว ญาติผู้ใหญ่ของเราหลาย ๆ คน ปู่ย่าตายาย ลองนึกดูให้ดี คนเหล่านั้นมักไม่อยากได้ใคร่ดีอะไรแล้ว อยากจะทำอะไรแปลก ๆ ที่ลูกหลานไม่เข้าใจว่าจะทำไปทำไม วันหนึ่งเราจะเป็นอย่างเขา ถ้าเราข้ามทุกขั้นไปได้อย่างสวยงาม
คนบางคนกลัวขั้นสองเสียจนจิตตก กลัวเปลี่ยนงาน กลัวบ้านโดนน้ำท่วม เวนคืนที่ ฯลฯ พาลจะประสาทกิน ขณะที่บางคนกลัวขั้นที่สามมากว่าจะไม่มีคนรัก จึงเริ่มด้วยการไม่รักใคร ไม่ผูกพัน ไม่สุงสิง เพราะกลัวคนอื่นไม่สนองความรักของเรา (หลายคนมีปมในชีวิต) ก็ต้องใช้เวลาต่อไป บางคนก็หว่านเสน่ห์จนเรี่ยราดเพื่อให้คนมาหยิบยื่นความรักให้ (ตัวเองขาดมาก)หลายคนลังเลทั้งการให้ความรักและการรับความรัก แต่ในที่สุด มันจะไปลงที่ลูก (หลายคนเป็นแบบนั้น) เพราะเราเชื่อว่า ลูกเราก็ต้องรักเราสิ พวกนี้จะไปอกแตกตายตอนลูก ๆ เริ่มโตเริ่มเถียงเริ่มออกห่างตัวเอง ก็จะยิ่งไล่จับลูก เพราะตอบสนองขั้นที่สามของตัวเอง สัญชาติญาณของมนุษย์เห็นแก่ตัวทั้งนั้น ลองสังเกตดูให้ดี
ท้ายนี้ ลองมองเรื่องรอบๆ ตัวดูเป็นความบันเทิง ไม่ต้องเครียด ใครเป็นชายใหญ่ ชายกลาง ชายน้อง หญิงใหญ่ หญิงเล็ก พจมาน หรือ ท่านชายพุฒิพัฒน์ ทุกอย่างมีที่มา และ ตอบสนองความต้องการของคนทั้งสิ้น ลองอ่านเรื่องของมาสโลว์ย่อ ๆ ดู
ผมเองนั้นมองแบบนี้มานานแล้ว สนุกและเพลิดเพลินพอที่จะไม่ต้องดูละครอะไรใด ๆเลย จะบอกให้

มาสโลว์ : จิตใจของ “คน” ยากแท้หยั่งถึง?
นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์ / chanwitaya@hotmail.com

สวัสดีครับท่านผู้อ่าน พบกันเช่นเคย ครั้งนี้ผมจะพาทุกท่านไปรู้จัก อับราฮัม มาสโลว์ เจ้าของความคิด “ทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ หรือบันไดห้าขั้นความต้องการของมนุษย์” กว่าห้าสิบปีมาแล้วที่ความคิดนี้สามารถนำไปปรับใช้ในการบริหารพัฒนาคน พัฒนาองค์กร เพราะเป็นเครื่องมือที่ใช้เพื่อเข้าใจคน รู้จักคน เรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ องค์กรไหนมองข้ามคน ยากนักที่จะอยู่รอดได้ ยิ่งคนรุ่นปัจจุบันต้องเข้าใจมากขึ้นกว่าอดีต เพราะมีความต้องการที่หลากหลายในเวลาเดียวกัน ถ้าเข้าใจทฤษฎีนี้ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้
ประวัติชีวิตของมาสโลว์ น่าสนใจมากครับ เด็กชายชาวยิวที่อพยพจากรัสเซียสู่มหานครนิวยอร์ก ลูกชายคนโตที่เป็นความหวังของพ่อแม่กับพี่น้องอีก 7 คน เด็กชายที่มีหนังสือเป็นเพื่อน จบการศึกษาด้านกฎหมาย แต่งงานมีลูก สุดท้ายยังไม่รู้ว่าตนเองต้องการอะไร จนย้ายไปอยู่วิสคอนซิน ตัดสินใจเข้าเรียนต่อในมหาวิทยาลัย จึงพบกับความต้องการที่แท้จริงของตนเองว่าชอบวิชาจิตวิทยา อยากทำความรู้จัก “คน” ให้มากขึ้น พอรู้ว่าตนเองชอบทางนี้ก็เหมือนภูเขาไฟระเบิดครับ ทุ่มเท ทุกอย่างเต็มที่ สมัครเข้าเรียนปริญญาตรีใหม่ในสาขาจิตวิทยา ปี ค.ศ. 1930 จบปริญญาตรี ปี ค.ศ.1931 จบปริญญาโท ปี ค.ศ. 1934 จบปริญญาเอก คนเราเมื่อเจอสิ่งที่รักแล้ว ย่อมทุ่มเทให้ทุกอย่างจริงๆ ครับ ใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีก็เรียนจบ ปริญญาเอก นี่เป็นแค่ช่วงแรกของการเปลี่ยนผ่านชีวิต ช่วงสองสิครับกระโดดเลย มาสโลว์ย้ายมาทำงานเป็นอาจารย์สอนหนังสือที่บรู๊คลิน ที่นี่เขาได้เจอนักคิดชั้นยอดที่อพยพหนีสงครามมาจากฝั่งยุโรป มาสโลว์ได้มีโอกาสนั่งถกเถียงความรู้ ความสงสัยกับนักคิดเหล่านั้น ช่วยให้มาสโลว์เข้าใจอะไรมากขึ้น หลายประเด็นเป็นของใหม่มากสำหรับเขา และหลายเรื่อง ทำให้เขาสงสัยใคร่หาคำตอบมากขึ้น การที่เขาได้พบกับเคิร์ท โกลด์สตีน ผู้แนะนำให้มาสโลว์รู้จักทฤษฎีความต้องการความสำเร็จของชีวิต เป็นเหมือนการเปลี่ยนแปลงชีวิตช่วงสุดท้าย มาสโลว์สนใจเรื่องนี้มาก จึงได้ทุ่มเทให้แก่การศึกษาวิจัย เพื่อหาคำตอบความต้องการของมนุษย์ มนุษย์ต้องการอะไร และนี่เองทำให้โลกของเรามีทฤษฎีความต้องการของมนุษย์ อันโด่งดัง ชีวิตของมาสโลว์ว่าไปก็เหมือนวงจรหนอนผีเสื้อ ค่อยๆ ลอกคราบจากตัวหนอนเป็นดักแด้จนกลายเป็นผีเสื้อ แล้วโผบินออกสู่โลกกว้าง
จากประวัติชีวิตที่น่าสนใจ มาต่อด้วยทฤษฎีลำดับขั้นความต้องการของมนุษย์ของมาสโลว์กันครับ แนวคิดนี้น่าสนใจในกระบวนการอธิบายที่ง่ายเหมือนเดินขึ้นบันได เริ่มจากขั้นแรกไปขั้นที่สอง ขั้นที่สามสาม จนถึงขั้นสุดท้าย ซึ่งแต่ละขั้นอธิบายความต้องการถึงส่วนลึกของจิตใจมนุษย์
เริ่มตั้งแต่ ขั้นแรก ความต้องการทางร่างกาย (The Physiological Needs) เป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน เช่น อาหาร น้ำ อากาศ และอื่นๆ รวมทั้งความต้องการทางเพศด้วย สรุปคือ ความต้องการเพื่อที่จะอยู่รอด
ขั้นที่สอง ความต้องการความปลอดภัยและความมั่นคง (The Safety and Security Needs) ขั้นนี้เน้น ความมั่นคง และปลอดภัยในการมีชีวิตอยู่ ไม่ใช่แค่มีอาหาร มีน้ำ แต่ยังต้องการสิ่งที่ปกป้องจากความกลัว เหมือนการที่เรามีข้าวกินทุกมื้อย่อมดีกว่ามีเป็นบางมื้อ ความกลัวที่จะอด ทำให้ต้องหาสิ่งที่มาตอบสนองต่อความกลัว เช่น สมัยโบราณก็รู้จักการเพาะปลูก ทำเกษตรกรรม เพื่อความมั่นคงทางอาหาร สมัยนี้คงทำแบบนั้นยากเพราะต้องการมีงานทำอย่างต่อเนื่อง มีรายได้ มีเงินเก็บไว้ใช้ยามจำเป็น มีการวางแผนการใช้ชีวิตที่ดีเพื่อความมั่นคง ความต้องการในขั้นนี้สำคัญมากเพราะเป็น ขั้นที่มนุษย์พัฒนาต่างจากสัตว์ทั่วไป เพราะมนุษย์รู้จักสะสมแสวงหาความปลอดภัยในการดำรงชีวิต ไม่ได้แค่อยู่ไปวันๆ การรวมกลุ่มเพื่อการเป็นครอบครัวจึงเกิดขึ้นในขั้นนี้
ขั้นที่สาม ความต้องการความผูกพันหรือการยอมรับ (The Love and Belonging Needs) ถัดจากความกลัวจะไม่มีความมั่นคงทางกายภาพ ขั้นนี้มาถึงด้านการสร้างความมั่นคงทางจิตใจ เป็นขั้นที่สำคัญมากเพราะมนุษย์เริ่มแสวงหาความปลอดภัยที่ไม่ใช่แค่กายภาพ แต่เป็นการสร้างความปลอดภัยทางอารมณ์ ความรู้สึกที่จะรักกัน เป็นเจ้าของซึ่งกันและกัน ห่วงใยกัน ขั้นนี้ทำให้มนุษย์พัฒนาสู่การเป็นสังคมมากขึ้น ทั้งในระดับครอบครัว และสังคมนอกครอบครัว การได้รับ การยอมรับเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม สำหรับสัตว์สังคมแบบมนุษย์ ขั้นนี้สำคัญมากในการก้าวจากความรู้สึกผูกพันแบบครอบครัวสู่การเป็นส่วน หนึ่งของสังคม
ขั้นที่สี่ ความต้องการการยกย่อง (The Esteem Needs) ขั้นนี้มนุษย์มาไกลไม่ใช่แค่ตนเอง ครอบครัว เพื่อนฝูงแล้ว และไม่ใช่แค่ยอมรับ แต่มาถึงการยกย่องเชิดชู ว่าเก่ง ว่าดี ยิ่งคนส่วนใหญ่ยกย่อง ยิ่งมีความสุข วิธีการมีมากมายเพื่อแสวงหาการยกย่องในรูปแบบต่างๆ ขั้นนี้ทำให้มนุษย์รู้จักการเสียสละให้แก่ผู้อื่น ต้องทำดีต่อผู้อื่น คิดถึงและปรารถนาดีกับผู้อื่น แต่มนุษย์บางพวกก็ทำเพียงเพื่อความมีหน้ามีตา สังคมยอมรับ บางคนแสวงหาอำนาจแบบผิดๆ ใช้เงินทองเพื่อให้เกิด การยอมรับ ยกย่องตนเอง เพราะในสังคมมนุษย์ การได้รับคำชม คำยกย่อง เป็นของขวัญล้ำค่ากว่าสิ่งของใดๆ เป็นความภาคภูมิใจที่ได้รับการยกย่องเชิดชู ขั้นนี้แหล่ะครับที่ทำให้มนุษย์วุ่นวายกันมาหลายพันหลายหมื่นปี ตายกันไปมากมายก็เพราะความต้องการที่ผิดๆ ขั้นนี้แหล่ะครับ คนชั่ว คนดี เห็นชัดตอนนี้ครับ ขั้นนี้อาจแบ่งเล่นๆ ได้สองอย่างครับอย่างแรก คือ การเป็น คนดี ที่ทำความดีเพื่อการรู้จักคุณค่าของตนเอง ผลการทำความดี สังคมจึงยกย่อง แต่แบบที่สองนี่ครับมันตรงกันข้ามเลยคือการเป็น คนชั่ว ที่ใช้วิธีการต่างๆ นานา เพื่อให้คนอื่นยกย่อง เห็นด้วยไหมครับว่าขั้นนี้องค์กรไหน สังคมไหน ไม่เข้าใจ แบ่งแยกคนดี คนชั่วไม่ได้ก็เตรียมตัวได้เลยครับ ไม่รอดแน่ๆ องค์กร สังคมพังแน่ครับ
มนุษย์เราส่วนใหญ่ก็อยู่กันสี่ขั้นนี้แหล่ะครับ บางคนกว่าจะมาถึงขั้นที่สี่ก็เหนื่อยยากแล้ว แต่เมื่อมาถึงขั้นที่สี่ได้แล้ว ขั้นต่อไปนี่ไม่ง่ายเลยครับ เพราะมันเป็นสิ่งที่เรียกว่า ความท้าทายของชีวิต ชีวิตใครชีวิตมัน ความฝันใครความฝันมัน อยากได้ต้องลงแรงเอง ใครฝันสูงก็เดินทางเหนื่อยกว่าคนอื่น เพราะขั้นที่สี่เปรียบเหมือนตะแกรงร่อนมนุษย์ออกเป็นคนชั่วคนดี ดังนั้น ความท้าทาย ความฝันของคนดีกับคนชั่วย่อมมีวิธีที่แตกต่างกัน ผลลัพธ์ก็แตกต่างกัน
ขั้นที่ห้า ความต้องการความสำเร็จในชีวิต (Self-actualization) ขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายแล้วครับ เป็นขั้นที่ใครได้สัมผัสก็จะปีนป่ายต่อไปเรื่อยๆ สูงไปเรื่อยๆ ใครใช้วิธีผิดๆ ก็จะใช้ต่อไปจนกว่าความจะแตกครับ เพราะหลงเสพติดความสำเร็จ เคยได้ยินมหาเศรษฐีบางคนพูดว่า ชีวิตที่ผมต้องการคือ ความสำเร็จในการได้ทำสิ่งที่อยากทำ ขั้นนี้จะมีบันไดเล็กๆ อีกมากมายซ่อนอยู่ ได้คืบจะเอาศอกครับ มันยิ่งกว่าแค่ยกย่อง แต่ขั้นนี้มันหลงตัวเองเลยก็มีครับ ในองค์กรหากมีใครสักคน ที่ทำอะไรก็สำเร็จ โดนยกย่องมากๆ ถ้าคุมตัวเองไม่อยู่ก็ไปนะครับเพราะขั้นนี้แหล่ะครับ ข้ารู้ ข้าเก่ง ข้าสามารถ อยู่คนเดียว คนอื่นแย่หมด องค์กรจึงต้องหาความท้าทายให้เสมอ คนที่จะอยู่กับขั้นนี้ได้ต้องอยู่กับความจริง แยกแยะได้ว่าอะไรถูกอะไรผิด มีคุณธรรมกำกับ สรุปเหมือนขั้นที่สี่คือ ต้องเป็นคนดีครับถึงอยู่รอดได้ ถ้าเป็นคนไม่ดี กลายเป็นหลอกตัวเองไปว่าสำเร็จแล้วชีวิตนี้ ถึงจะมีครบทุกอย่างแล้ว แต่คนทั้งโลกบอกว่าคุณแย่มาก แล้วจะสำเร็จอย่างไร
เล่ามาทั้งห้าขั้นความต้องการของมนุษย์ ท่านผู้อ่านสังเกตไหมครับ ความดี ความชั่ว สำคัญมากนะครับ ความต้องการการยกย่อง ความต้องการความสำเร็จคือ ขั้นที่สี่และห้านั้น ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ต้องมีคุณธรรม ความดีงามกำกับ ถึงจะไปถึงความสุขที่แท้จริงและยั่งยืน ความต้องการความสำเร็จในชีวิตนั้นต้องเป็นความสำเร็จที่คนอื่นได้ประโยชน์ ด้วย ถ้าเป็นความสำเร็จที่ตนเองได้ประโยชน์ฝ่ายเดียวก็คงไม่ดีต่อโลกนะครับ ทำไมผมถึงพามาสโลวน์มาถึงเรื่องความดี ความชั่ว
ได้นี่ครับ อาจเป็นจิตใต้สำนึกผมเองที่อ่านไปก็พยายามตีความ ขั้นที่สี่ และห้า ให้เข้าใจง่ายๆ เลยยกความดี ความชั่วมาเสริมให้ท่านผู้อ่านเห็นภาพตาม นี่ถ้ามาสโลว์ได้ศึกษาวิธีคิดทางตะวันออกเรื่องคุณธรรมมากขึ้น ทฤษฎีนี้คงจะน่าสนใจขึ้นอีกมาก
ยิ่งยุคสมัยนี้ ที่มีคนหลายวัยในครอบครัว ความคิด ความต้องการย่อมแตกต่างกัน เมื่อมาทำงานก็ย่อมเจอคนหลากหลายวัยในที่ทำงาน ถ้าเราเข้าใจความต้องการของมนุษย์ก็จะช่วยให้เรารู้ว่า ทำไมคนยุคหนึ่งซื้อบ้านก่อนซื้อรถ แต่คนอีกยุคหนึ่งซื้อรถก่อนซื้อบ้าน ทฤษฎีของมาสโลว์อธิบายได้ครับ คำว่า ความสำเร็จของมนุษย์นั้น ทำไมปัจจุบันคนหนึ่งมีเยอะเหลือเกิน แถมอายุน้อยก็พบความสำเร็จกันแล้ว ถ้าใช้ประสบการณ์ในอดีตอธิบายยากครับ ชีวิตทุกวันนี้ความต้องการ มันกระโดดไปมา และมีบันไดเล็กๆ ของความต้องการซ่อนในแต่ละขั้นอีกครับ ยุคนี้เขาอยู่กันด้วยคำว่า “ความท้าทาย” ครับ ต่อให้มั่นคงปลอดภัย มีทุกอย่างครบแล้ว แต่คนก็จะมุ่งหาความท้าทายใหม่ๆ ให้ชีวิตเสมอครับ สวัสดีครับ

Manager talk 20130617

สวัสดีครับ
ห่างหายไประยะหนึ่ง จนเมื่อวานถูกกระตุ้นด้วยเรื่องราวการล่มสลายของประเทศกรีซ และ อีกหลาย ๆ ประเทศในยุโรป ซึ่งเกิดภายหลังการเข้าร่วม EU ใครแข็งก่วาคนนั้นนอด ผู้ใดอ่อแอ หรือ มือเติบ ขาดวินัย คนนั้นเดี้ยงหรือถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่มีทางต่อสู้ การผละงานประท้วงมีกันไปทั่ว แต่ก็คงได้อีกไม่นาน การขายทอดตลาดของบริษัทรัฐบาลที่ถือหุ้น แต่ไม่เกิดรายได้จะมีมากขึ้น และ แน่นอน การปลดคนงานก็จะต้องมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
บ้านเราเมืองเราเมื่อตอน IMF เข้ามากำกับดูแล ว่ากันว่า เป็นการเสียเมืองครั้งที่ สาม (หวังว่าเด็กใหม่ ๆ น่าจะเกิดทันนะครับ ปี 2540 นั่นน่ะ) หลาย ๆองค์กรต้องปิดตัวลงเพราะขาดสภาพคล่องการชำระหนี้ นักลงทุนฆ่าตัวตาย (ฮือฮามาก ในตลาดหุ้น) การควบรวมกิจการ และ ปลดลดพนักงานมีมากมาย TPI ก็กลายร่างเป็น IRPC ตั้งแต่บัดนั้น จนบัดนี้ PTT และ SCG เข้าควบรวมกิจการ และ ดุลพนักงานส่วนเกินออกมากมาย คนที่ผมรู้จักหลายคน ทุกวันนี้ชีวิตยังตกต่ำไม่หาย หลังจากวิกฤตินั้นทั้งๆที่ตอนนั้นฮือฮามากว่าจ้างออกตั้งหลายสิบซองต่อคน!!!!
เรื่องนี้ สอนอะไรเราครับ เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า ประวัติศาสตร์ บันทึกเรื่องรางที่เกิดขึ้น จริงอยู่มันอาจจะถูกเขียนโดยผู้ชนะ เราอาจจะฟังความแค่ข้างเดียว แต่ การศึกษาประวัติศาสตร์ ทำให้เราเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น และ สามารถเตรียมตัวที่จะรับมือกับมันได้ หากมันจะเกิดซ้ำขึ้นมาอีก ขณะนี้ หนี้ภาคครัวเรือน (เรา ๆ ท่าน ๆ ) เพิ่มจากเกือบสามแสนบาท (เฉลี่ย) ต่อครัวเรือน ไปเป็น ห้าแสนบาทแล้ว นั่นหมายถึง ใน 20 ล้านครัวเรือนของประเทศไทย ที่ต้องทำมาหากินเพื่อการ “ใช้หนี้” มากเกือบครึ่งล้าน ในจำนวน 20 ล้านครัวเรือนนั้น มีครอบครัวที่เป็นหนี้ จริง ๆ 7 ล้านครัวเรือน (ที่เหลือไม่ใช่รวย แต่อาจจะยากจนจนไม่สามสรถก่อหนี้ได้อีก) นั่นคือจริง ๆ แล้วไม่ใช่แค่ 5 แสนเท่านั้น มันมากกว่า ลองมองดูรอบตัวพวกเราสิ เพราะเราเป็นกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ขับเลื่อนเศรษฐกิจอยู่ว่ามีใครไม่มีหนี้บ้าง ชีวิตในวันนี้ และ วันหน้าอีกหลายสิบปี ที่ประเทศต้องใช้หนี้เหล่านี้ต่อไปเรื่อย ๆ
แล้วมันเกี่ยวอะไรกับเรา ในเมื่อเราต้องกันทุกอย่างไว้ใช้หนี้ การลงทุนในแง่ของการพัฒนาคน การศึกษาของเยาวชน สาธารณูปโภคก็จะลดลง ความปลอดภัยชีวิตและทรัพย์สินก็จะลดลง ความสามารถในการแข่งขันก็ลดลง ไม่เร็วก็ช้า เรื่องนี้จะส่งผลกระทบกับเรา ลูกหลานเรา เราต้องเตรียมรับมือไว้ครับ
ผมย้อนไปอ่านบทเรียนจากการเสียกรุงฯทั้งสองกรณี ช่างเข้ากับสถานการณ์ขณะนี้เหลือเกิน อโยธยา สู้รบปรบมือกันเอง แก่งแย่งอำนาจ และ มีคนในเป็นไส้ศึก ลุแก่โลภะ ทำให้คนไทยทั้งหมดต้องแพแตกนั่นคือครั้งแรกปี 2112 ครั้งที่สอง เกิดจากการนิ่งดูดายธุระไม่ใช่ของคนทุกหมู่เหล่า ขาดผู้นำที่รักษาผลประโยชน์ของส่วนรวม ขาดการต่อเนื่องของการบูรณาการและพัฒนาความแข้มแข็ง ทุกเหล่าทุกหมู่เกาะกุมแต่ผลประโยชน์ของตนเอง ไม่มีใครเห็นกับส่วนรวม (เรื่องมันคุ้นๆ ยังไงชอบกล ?) จนในที่สุดวันนั้นก็มาถึง เล่ากันว่า เพลิงไหม้ทั้งกรุงอโยธยาถึงเจ็ดวันเจ็ดคืนกว่าจะมอดลง ราชธานีย่อยยับจนกว่าจะเยียวยาได้ จนสิ้นยุคกรุงศรีอยุธยาเมื่อผ่านไป 414 ปีเท่านั้นเอง การเสียกรุงครั้งหลังนี้ ทั้งผ้นำ ผู้ตาม และ เหล่าคนรอบข้างที่เกาะกุมผลประโยชน์ต่างสูญสิ้นไปทั้งหมด เหล่าประชาทั้งหลายก็บ้านแตกสาแหรกขาด กระจัดกระจายไปทุกย่าน รวมถึงถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยตั้งรกรากอยู่ที่ทวายมะริด จนบัดนี้…

ผมสำเนาเรื่องราวมาให้ทุกคนอ่านดูในเวลาว่าง พร้อมกับขอให้ลองคิดดูว่า ประวัติศาสตร์บอกอะไรเราบ้างครับ ….

.บทเรียนจากการเสียกรุง
…..ในประวัติศาสตร์ไทย เหตุการณ์ที่คนไทยจดจำกันได้มากที่สุด ก็คือ การเสียกรุงครั้งที่หนึ่งและครั้งที่สอง ซึ่งในการเสียกรุงครั้งแรกนั้น เราต้องตกเป็นประเทศราชของชนชาติอื่นยาวนานถึง 15 ปีขณะที่การเสียกรุงครั้งที่สองนั้น เป็นเรื่องราวที่สะเทือนใจยิ่งกว่า เนื่องจากในครั้งนี้ กรุงศรีอยุธยาที่ดำรงสถานภาพของพระมหานครยาวนานมากว่า 400 ปี ต้องถึงกาลพินาศลง
.
…..ก่อนที่จะพูดถึงบทเรียนจากเหตุการณ์ทั้งสอง เราน่าจะลองย้อนเวลากลับไปดูก่อนว่า เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นได้อย่างไร โดยจะเริ่มจากการเสียกรุงครั้งแรกก่อน
.
…..ในช่วงเวลาก่อนที่อโยธยาจะเริ่มทำศึกกับหงสาวดีนั้น ภายในอาณาจักรอโยธยาเอง ได้มีความแตกแยกขัดแย้งแฝงอยู่ภายใน อันมีสาเหตุมาจากความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเราของบรรดาเจ้าราชวงศ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองในเวลานั้น โดยราชวงศ์ที่เกี่ยวข้องกับการบริหารบ้านเมืองอโธยาในเวลานั้นมีอยู่สี่เชื้อสายราชวงศ์ด้วยกันคือ กลุ่มราชวงศ์สุพรรณภูมิ กลุ่มราชวงศ์สุโขทัยหรือหัวเมืองฝ่ายเหนือ กลุ่มราชวงศ์ละโว้อู่ทองและกลุ่มราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช หรือ หัวเมืองฝ่ายใต้
.
…..ในช่วงแรก ได้มีการแก่งแย่งอำนาจระหว่างกลุ่มละโว้กับสุพรรณภูมิ ซึ่งในตอนท้ายที่สุด กลุ่มสุพรรณภูมิที่ได้รับแรงหนุนจากกลุ่มสุโขทัยก็สามารถกำจัดอำนาจกลุ่มละโว้ลงได้จนหมดสิ้น และนั่นเองที่ทำให้ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มสุพรรณภูมิกับสุโขทัยได้ก่อตัวขึ้นมา เนื่องจาก ราชวงศ์สุโขทัยนั้นต้องการฟื้นฟูอำนาจของพวกตนในหัวเมืองฝ่ายเหนือขึ้นมาใหม่ หากแต่ราชวงศ์สุพรรณภูมิที่ปกครองอาณาจักรอยู่นั้นไม่ยินยอม จนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่ พญายุทธิษเฐียรเจ้านายฝ่ายสุโขทัยได้แปรภักตร์หันไปพึ่งอาณาจักรล้านนาให้มาช่วย จนเกิดสงครามยาวนานระหว่างสมเด็จพระบรมไตรโลกแห่งอโยธยากับพระเจ้าติโลกราชแห่งล้านนา เพื่อแย่งชิงหัวเมืองฝ่ายเหนือ
.
…..แม้ว่าในท้ายที่สุด อโยธยาจะชนะศึกและรักษาหัวเมืองฝ่ายเหนือเอาไว้ได้ แต่ความขัดแย้งก็ยังคงคุกรุ่นในกลุ่มเจ้าเมืองและเชื้อพระวงศ์สุโขทัย จนมาถึงครั้งที่ขุนพิเรนทรเทพผู้สืบเชื้อสายวงศ์สุโขทัยใช้กำลังขุนนางฝ่ายเหนือกำจัดท้าวศรีสุดาจันทร์และขุนวรวงศา เจ้านายสายละโว้ที่ขึ้นมาชิงอำนาจจากราชวงศ์สุพรรณภูมิ โดยหลังจากกำจัดทั้งสองไปแล้ว ขุนพิเรนทรเทพกับพรรคพวกก็สนับสนุนให้พระเฑียรราชาขึ้นครองราชย์เป็นสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งพระองค์ก็ตอบแทนความชอบของขุนพิเรนทรเทพด้วยการแต่งตั้งให้เป็นพระธรรมราชาปกครองหัวเมืองฝ่ายเหนือในฐานะเจ้าประเทศราช ซึ่งทำให้ราชวงศ์สุโขทัยฟื้นอำนาจของตนขึ้นมาในระดับหนึ่ง
.
…..หลังศึกตะเบ็งชะเวตี้ผ่านไป อำนาจของหัวเมืองฝ่ายเหนือค่อยๆเพิ่มพูนอย่างช้าๆ จนทำให้กลุ่มราชวงศ์สุพรรณภูมิเริ่มไม่ไว้วางใจ แม้ว่าทั้งสองฝ่ายจะเกี่ยวดองกันผ่านการสมรสโดยพระธรรมราชามีพระมเหสีคือ พระวิสุทธิกษัตรี พระราชธิดาของ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ทั้งฝ่ายมีความไว้วางใจต่อกันมากขึ้นสักเท่าใด
.
…..ต่อมา เมื่อพระเจ้าบุเรงนองยกทัพหงสาวดีมาตีอโยธยาในสงครามช้างเผือก กองทัพหงสาได้เข้าตีหัวเมืองฝ่ายเหนือและล้อมพิษณุโลกเอาไว้ ก่อนจะตีได้เวลาครึ่งเดือน ซึ่งตลอดเวลาที่ทัพหงสาเข้ารุกรานหัวเมืองฝ่ายเหนือไม่ปรากฏความช่วยเหลือจากกรุงศรีอยุธยาแต่อย่างใด ดังนั้นหลังจากสิ้นสงครามช้างเผือกแล้ว บรรดาหัวเมืองฝ่ายเหนือที่ไม่พอใจในท่าทีของกรุงศรีอยุธยาก็หันมาเข้ากับหงสาวดีแทน
.
…..และเมื่อบุเรงนองยกทัพมาอีกครั้งใน พ.ศ.2112 พระมหาธรรมราชาก็นำทัพฝ่ายเหนือเข้าช่วยทัพหงสาวดีตีกรุงศรีอยุธยาด้วย ครั้นเมื่อทัพหงสาวดียึดกรุงได้แล้วก็กวาดต้อนผู้คน ข้าทหารของกรุงศรี ตลอดจนเจ้านายเชื้อพระวงศ์สุพรรณภูมิกลับหงสาวดีและแต่งตั้งให้พระมหาธรรมราชาเป็นพระเจ้ากรุงศรีอโยธยา
.
…..กล่าวโดยสรุปจากเหตุการณ์ข้างต้นนั้น บอกให้รู้ว่า การที่เราต้องเสียกรุงในครั้งแรกนั้น เกิดมาจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้บริหารของบ้านเมืองที่ต่างฝ่ายต่างไม่ไว้วางใจกันเองเป็นทุนเดิมประกอบกับพลเมืองของหัวเมืองฝ่ายเหนือและอโยธยาต่างก็คิดว่า อีกฝ่ายมิใช่พวกเดียวกับตน มีการแบ่งแยกเป็นฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ จนเมื่อข้าศึกจากภายนอกจับจุดอ่อนนี้ได้ และทำให้ความขัดแย้งนั้นขยายตัวจนกลายเป็นความแตกแยก จึงทำให้ไทยต้องเสียกรุงไปในที่สุด
.
…..อาจกล่าวได้ว่า การเสียกรุงครั้งแรกนั้นมีเหตุใหญ่มาจากความรู้สึกแบ่งเขาแบ่งเราของบรรดาผู้บริหารอาณาจักร การขาดความเป็นนำหนึ่งใจเดียวกันของพลเมือง จึงทำให้ไม่อาจต้านทานแสนยานุภาพของข้าศึกศัตรูได้
.
…..สำหรับการเสียกรุงครั้งที่สองนั้น ค่อนข้างแตกต่างกัน เนื่องจากในยุคนี้ไม่มีการแบ่งแยกหัวเมืองฝ่ายเหนือฝ่ายใต้เหมือนแต่ก่อน โดยทางกรุงศรีได้ปรับการบริหารบ้านเมืองโดยส่งขุนนางจากส่วนกลางไปครองเมืองและดึงอำนาจการบริหารเข้าศูนย์กลาง พร้อมๆกับบั่นทอนความเข้มแข็งของหัวเมืองลง เพื่อมิให้หัวเมืองเหล่านั้นมีกำลังพอก่อความวุ่นวายได้
.
…..แม้การปกครองแบบนี้จะสร้างเสถียรภาพให้อาณาจักรแต่หากเมื่อใดที่ส่วนกลางเกิดความอ่อนแอ ก็จะส่งผลให้ทั้งอาณาจักรปั่นป่วนตามไปด้วย
.
ชิงอำนาจกันในหมู่พระราชวงศ์หลายครั้งมาก โดยเฉลี่ยสิบสามถึงสิบสี่ปีต่อครั้ง ซึ่งทุกครั้งที่เปลี่ยนกษัตริย์พระองค์ใหม่ เหล่าขุนนางข้าหลวงเดิมของกษัตริย์องค์ก่อนก็ถูกกวาดล้างไปจนหมด ทำให้ทุกครั้งที่ผลัดแผ่นดินต้องเปลี่ยนตัวข้าราชการแทบจะทั้งระบบทุกครั้ง(ประมาณว่า พอใครขึ้นเป็นนายก็กวาดล้างลูกน้องของนายคนก่อนและเอาคนของตัวเสียบแทน) การกวาดล้างขุนนางบ่อยเช่นนี้ ทำให้อโยธยาขาดแคลนขุนนางที่มีความสามารถมาใช้ในการบริหารบ้านเมือง จนทำให้การบริหารงานตลอดจนกองทัพเสื่อมลง
.
…..ทว่าการศัตรูเก่าอย่างพม่าที่เคยมีแสนยานุภาพทัดเทียมกันเกิดความวุ่นวายภายในจนอ่อนแอลง ทำให้อโยธยาที่ไร้สงครามดูมีเสถียรภาพมากกว่า พ่อค้าจากต่างแดนเข้ามาทำการค้ามากกว่า ผู้คนทำมาหากินคล่อง เงินทองหมุนเวียนมาก กล่าวง่ายๆคือ การที่ดินแดนรอบข้างวุ่นวายด้วยสงครามภายใน ทำให้อานิสงค์ตกอยู่กับอโยธยาและด้วยเหตุนี้จึงทำให้เหล่าขุนนางที่ขึ้นมามีอำนาจไม่สนใจในการปรับปรุงบ้านเมือง เพราะติดอยู่ในภาพลวงของความมั่งคั่งและความสงบ ต่างฝ่ายก็สนใจเพียงรักษาอำนาจที่ตนเองมีและใช้โอกาสของควมมั่งคั่งของบ้านเมืองแสวงหาผลประโยชน์เข้าหาตัวเองและพวกพ้อง
.
…..จนกระทั่งเมื่อพม่าได้รวมตัวเป็นปึกแผ่นด้วยผู้นำและกองทัพที่เข้มแข็ง อาณาจักรพม่าจำต้องหาแหล่งทรัพยากรมาสนับสนุนการสร้างอาณาจักรใหม่ที่กำลังเติบโตของตน จึงส่งทัพเข้าโจมตีหัวเมืองเล็กน้อยรอบข้างก่อนจะระดมทัพใหญ่มาทำสงครามกับอโยธยา
.
…..และความที่อโยธยานั้น มีเพียงภาพลักษณ์ภายนอกที่ดูเข้มแข็ง หากแต่แท้จริงนั้น การบริหารงานภายในอ่อนแอ ด้วยขาดคนมีความสามารถมาบริหารบ้านเมือง ส่วนพวกที่ทำงานอยู่นั้นส่วนใหญ่ได้ตำแหน่งเพียงเพราะเจ้านายฝ่ายของตนได้เป็นผู้ชนะ แต่ตนเองกลับไม่มีความสามารถในการทำงานเพียงพอ
.
…..ดังนั้นเมื่อเผชิญหน้ากับศัตรูที่เข้มแข็ง อโยธยาจึงไม่อาจต้านรับได้ จนสุดท้ายจึงต้องเสียกรุงให้แก่ข้าศึกไปทั้งยังทำให้อาณาจักรต้องล่มสลายไปอีกด้วย
.
…..ซึ่งการเสียกรุงครั้งที่สองนี้ นอกจากเรื่องการขาดความสามัคคี ความอ่อนแอของกองทัพ ความเข้มแข็งของผู้รุกราน แล้ว ส่วนหนึ่งยังมาจากการที่ผู้บริหารบ้านเมืองยึดติดอยู่กับการแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตัวและหลงเพ้อกับภาพลวงตาของความมั่งคั่งจนมองไม่เห็นปัญหาที่สะสมอยู่ ถ้าเปรียบไปก็คล้ายกับไม้ใหญ่ที่ภายนอกดูแข็งแกร่งมั่นคง แต่ภายในผุกร่อนจากแมลงชอนไช ครั้นเมื่อถูกลมพายุพัดก็หักโค่นลงอย่างง่ายดาย

บุญรักษา