เล่าไปเรื่อย ๆ (12) วิสัยทัศน์ (ดร.วิษณุ)

เล่าไปเรื่อย ๆ (12)

สมัยนี้ถ้าแวะเข้าไปไม่ว่าที่ทำการใดของรัฐ จะเห็นป้ายอันใหญ่ติดหราเห็นชัดถนัดตาเสมอว่าส่วนราชการนั้นมีวิสัยทัศน์อย่างไร เวลาจะคัดเลือกใครให้ดำรงตำแหน่งใด เช่น คณบดี อธิการบดี ผู้ว่ารัฐวิสาหกิจ ก็จะต้องให้มาแสดงวิสัยทัศน์ก่อนเสมอว่าใครเจ๋งกว่ากัน

วิสัยทัศน์มาจากคำว่า vision แปลว่าการมองไปข้างหน้า มองว่าภายในช่วงเวลาหนึ่งตามแต่จะกำหนดต่อจากนี้ไปอยากเห็นอะไร ถ้าเป็นวิสัยทัศน์ของหน่วยงานก็แปลว่าอยากเห็นหน่วยงานนั้นเป็นอะไร ทำอะไร หน้าตาเป็นอย่างไร ถ้าเป็นวิสัยทัศน์ของคนก็แปลว่าอยากทำอะไร อยากเห็นอะไร อยากแก้ปัญหาอะไร ลงท้ายอะไรจะเกิดขึ้น วิสัยทัศน์ต่างจากนโยบายเพราะนโยบายมุ่งตอบคำถามว่า where to go, why to go และ how to go แต่วิสัยทัศน์จะตอบว่า ถ้า go แล้วในที่สุดผลที่จะบังเกิดคืออะไร

การมีวิสัยทัศน์เป็นคุณสมบัติหนึ่งของผู้นำ และเป็นกระบวนการหนึ่งที่จะทำให้ผู้ตามสามารถตามไปได้ถูกทิศทางเพราะมองเห็นผลสัมฤทธิ์หรือผลสำเร็จของงานอันน่าอิ่มเอมเปรมใจถ้าได้ช่วยกันตามไปทำจนสำเร็จ วิสัยทัศน์ใดไม่เข้าท่า เพ้อเจ้อ เกินตัว ก็เรียกว่าฝัน อย่างนี้ใครก็ไม่อยากทำตามให้เหนื่อยเปล่า เช่น วิสัยทัศน์จะทำหน่วยงานเล็กๆ ขาดทุน รั่วไหล โกงสะบัดช่อให้เป็น world class วิสัยทัศน์ว่าหน่วยงานนี้จะเป็นแบบอย่างของอาเซียนทั้งที่จะเจ๊งมิเจ๊งแหล่ คนที่จะกำหนดวิสัยทัศน์ได้จึงต้องเป็นคนรู้ปัญหา รู้วิธีการ รู้ศักยภาพหรือประเมินกำลังตนเองได้ ทั้งต้องจูงใจคนให้คล้อยตามได้ ตลอดจนรู้ว่าผลสำเร็จนั้นเหมาะสมเป็นผลดีอย่างไร โบราณเรียกว่า “มองการณ์ไกล” หรือจะเรียกอย่างที่พระเจ้าอยู่หัวบรมโกศทรงเรียกว่า “เชาวนปัญญาปรีชาญาณ” ก็ได้ ภาษาพระเรียกการมองการณ์ไกลว่า “มีจักขุมา” จักขุหรือจักษุคือสายตา และถ้าเป็นการมองได้ทะลุปรุโปร่งรู้แจ้งแทงตลอดเห็นอนาคตเป็นฉาก ๆ ก็เรียกว่ามี “อนาคตังสญาณ” คำนี้ออกไปในทางอภินิหารนิด ๆ ไกลจากวิสัยทัศน์ไปหลายช็อต สำหรับผู้นำธรรมดาแค่มีวิสัยทัศน์ก็พอจะเอาอยู่แล้ว

ฝรั่งบอกว่า vision without action is a dream ในขณะที่ a dream with action is vision. วิสัยทัศน์จึงต้องตามมาด้วยการกระทำ ใครเป็นคนทำ คำตอบคือผู้ตาม แล้วทำอย่างไรจึงจะให้ผู้ตามยอมตาม ตรงนี้เป็นกุศโลบายหรือเทคนิคของผู้นำอีกแล้ว เห็นไหมว่าในที่สุดก็วนกลับมาที่เดิมคืออุบายที่จะให้คนทำตาม

ผู้นำบางคนใช้เงินหว่านซื้อ ผู้นำบางคนใช้วาจาหว่านล้อม ผู้นำบางคนใช้วิธีแสดงอำนาจขู่เข็ญบังคับ ผู้นำบางคนใช้คุณธรรมนำหน้าอำนาจ ผู้นำบางคนใช้ไมตรีผูกใจผู้ตาม เรียกว่าไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล ไม่ได้ด้วยมนต์ก็เอาด้วยคาถา

เคยมีขุนศาลตุลาการผู้ใหญ่รุ่นเก่าเล่าว่าสมัยอาจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์เป็นปลัดกระทรวงยุติธรรมนั้น เวลาผู้พิพากษาคนใดก็ตามย้ายออกไปเป็นหัวหน้าศาลที่หัวเมือง ท่านจะไปส่งที่สถานีรถไฟหัวลำโพงทุกครั้ง (สมัยนั้นศาลยังสังกัดกระทรวงยุติธรรม) ผู้พิพากษาจึงเคารพนับถือท่านมาก กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ก่อนจะครองราชย์เป็นรัชกาลที่ 3 พระทัยท่านกว้างขวางนัก ใส่บาตรพระนับร้อยรูปทุกวัน แม่ท่านหุงข้าวกระทะวันละหลายกระทะ ต้มแกงวันละหลายหม้อตั้งโรงทานหน้าวังเลี้ยงราษฎรที่ผ่านไปมา เวลาเรือสินค้าของท่านกลับมาจากเมืองจีนก็โปรดฯ ให้นำตุ๊กตุ่นตุ๊กตาเมืองจีน ของเล่นแปลก ๆ ไปประทานน้อง ๆ และหลาน ๆ ที่เป็นเด็ก ท่านทำอย่างนี้ตั้ง 15 ปี พอรัชกาลที่ 2 สวรรคต เจ้านาย ขุนนางใหญ่น้อยจึงเชิญท่านเป็นกษัตริย์ พระสงฆ์ คนยากไร้ ชาวบ้านร้านตลาดแซ่ซ้องกันทั้งนั้น เพราะเห็นน้ำใจท่านมาตั้งแต่ปีมะโว้แล้ว

ผู้ใหญ่เหล่านี้จะว่าวางตัวดีแต่อย่างเดียวโดยไม่มีวิสัยทัศน์ผู้นำก็คงไม่ได้ รัชกาลที่ 3 เมื่อครองราชย์แล้วโปรดฯ ให้สร้างวัดมากมายโดยมีความหมายแฝงไว้เพื่อการณ์ข้างหน้าทั้งนั้น ศิลปกรรมสถาปัตยกรรมสมัยรัชกาลที่ 3 มักเป็นแบบจีน โบสถ์วิหารสร้างแบบหลังคาไม่มีเครื่องลำยอง ก็เพื่อให้สถาปัตยกรรมศิลป์แปลกใหม่ไปจากเดิม ๆ จะว่าเป็นการคิดใหม่ทำใหม่ก็ได้ วิธีนี้ท่านได้ใจคนจีนด้วย วัดโพธิ์ก็โปรดฯ ให้ทำพระนอนแบบใหม่ วัดราชนัดดารามโปรดฯ ให้ทำโลหะปราสาท วัดยานนาวาโปรดฯ ให้ทำเรือสำเภาจีนโบราณไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นและยังอุปมาเข้ากับ “ยาน” อันข้ามห้วงมหรรณพอีกด้วย วัดอรุณฯ ก็โปรดฯ ให้สร้างพระปรางค์สูงใหญ่อวดฝีมือช่างไทย ที่วัดราชโอรส วัดพระเชตุพนโปรดฯ ให้ทำจารึกสรรพตำรายา ตำรากลอน โคลง ตำราโบราณประเพณี รูปฤๅษีดัดตนไว้ให้คนมาเรียน ทรงสะสมเงินใส่ถุงแดงเอาไว้ใช้ในยามจำเป็นจนได้ใช้ไถ่บ้านไถ่เมือง โปรดฯ ให้ขุดคลองแสนแสบ สร้างป้อม พัฒนาหัวเมืองอีสานจนเจริญจะได้ไม่เอาใจออกห่าง

รัชกาลที่ 4 ทรงมองการณ์ไกลอีกแบบว่าวันหนึ่งฝรั่งต้องเข้ามามีอิทธิพล จึงโปรดฯ ให้พระราชโอรสธิดาเรียนภาษาอังกฤษเตรียมรับมือจนถึงขนาดจ้างแหม่มจ้างครูฝรั่งเข้ามาสอน โปรดฯ ให้ตีพิมพ์กฎหมายเผยแพร่จนถึงขนาดออกหนังสือราชกิจจานุเบกษาให้ข้าราชการได้รู้เท่า ๆ กัน รัชกาลที่ 5 ขยับอีกขั้นถึงขนาดเสด็จประพาสต่างประเทศทำให้นานาชาติเริ่มรู้จักสยามว่าไม่ใช่พวกคนป่าตาเถื่อน และทรงจ้างชาวต่างประเทศเข้ามาทำราชการ ที่สำคัญคือทรงปฏิรูปการปกครอง ปฏิรูปกฎหมาย ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม ปฏิรูปการศึกษา ปฏิรูปการปกครองคณะสงฆ์เพื่อเตรียมรับมือกระแสความเปลี่ยนแปลงที่กำลังจะถาโถมเข้ามา

การมีวิสัยทัศน์ไปด้วยกันได้อย่างดีกับการคิดใหม่ทำใหม่ ผู้นำจึงควรเป็นคนคิดอะไรได้ใหม่ๆ แปลกๆ ไปจากเดิม เมื่อโอบามาเข้ามารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ จึงชูธงสโลแกนคำเดียวว่า “Change” ก็คงเหมือนที่พลเอกชวลิตชูธงว่า “ความหวังใหม่” กระมัง คำว่า “ใหม่” ในที่นี้ไม่ต้องถึงกับใหม่ถอดด้าม เอาของเก่ามาปัดฝุ่นใช้ใหม่ก็เรียกว่าใหม่ ดัดแปลงจากสิ่งที่มีอยู่ทำอยู่เดิมก็เรียกว่าใหม่ เอาจากที่อื่นมาใช้ก็จัดว่าใหม่ได้ แม้จะเก่ามาจากที่อื่น หรือจะใหม่โดยสิ้นเชิงก็ได้ การคิดใหม่ทำใหม่เป็นผลมาจากการตอบโจทย์หรือปัญหาใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นตามกระแสโลกอันเปลี่ยนแปลงไปไม่หยุดยั้ง พระพุทธเจ้าก็เคยคิดใหม่ทำใหม่ เมื่อทรงรู้ว่าการหลงใหลอยู่ในกามหรือกามสุขัลลิกานุโยคไม่ใช่ทางบรรลุธรรม ก็ทรงหันไปใช้วิธีทรมานตนเองอย่างหนักหรืออัตตกิลมถานุโยค แต่เมื่อทรงรู้ว่าหนทางใหม่นี้ก็ไม่ใช่ทางบรรลุธรรม ก็ทรงค้นหาทางสายกลางเป็นทางเส้นใหม่ บรรดาธรรมะทั้งหลายที่ทรงสอนหลังตรัสรู้ก็เป็นของใหม่ค้านกับความคิดเดิมหรือการทำแบบเดิมของพราหมณ์ เช่น ทรงสอนหลักอนัตตา (ค้านกับหลักอัตตา) พรหมวิหาร (ค้านกับพระพรหมเทพ) ทิศ 6 (ค้านกับการบูชาทิศ) มงคลสูตร (ค้านกับมงคลของพราหมณ์) เป็นต้น

การที่สมเด็จพระนารายณ์ถอยไปฟื้นเมืองละโว้เป็นลพบุรีนคร ราชธานีแห่งที่ 2 ก็เป็นการคิดใหม่ทำใหม่อย่างหนึ่งในการมีเมืองหลวงสำรองและแบ่งแยกกำลังทหารไม่ให้รวมกันติด การพึ่งข้าราชการต่างประเทศไม่ว่าจากญี่ปุ่น อาหรับ จีน ฝรั่งเศส ในสมัยนั้นเพื่อคานอำนาจกับข้าราชการฝ่ายไทยซึ่งมักมีมูลนายที่ฝังตัวมีอำนาจสะสมมานานก็เป็นการคิดใหม่ทำใหม่เช่นกัน แม้แต่การส่งราชทูตไปฝรั่งเศส อังกฤษ และราชสำนักพระสันตะปาปาก็อยู่ในขบวนการคิดใหม่ทำใหม่ การให้ข้าราชการเริ่มสวมเสื้อเข้าเฝ้าฯ ในสมัยรัชกาลที่ 4 และการให้ข้าราชการเลิกหมอบกราบเวลาออกว่าราชการในสมัยรัชกาลที่ 5 แม้คนทุกวันนี้จะเห็นเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย แต่สำหรับเมื่อ 150 ปีมาแล้วเป็นการคิดใหม่ทำใหม่เชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญมากจนฝรั่งต้องเอาไปตีความว่ามีนัยอะไรซ่อนอยู่

ที่รัชกาลที่ 6 ทรงหันมา “เล่น” อะไรต่ออะไรมากมาย เช่น เสือป่า ดุสิตธานีก็เป็นการคิดใหม่ทำใหม่ที่มีนัยบางอย่างแฝงอยู่ไม่น้อย

ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพลแปลก พิบูลสงคราม เป็นหัวหน้ารัฐบาลและเป็นผู้นำประเทศไทย ที่จริงท่านพยายามทำอะไรใหม่ ๆ หลายอย่างอยู่เหมือนกันเพื่อตอบปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นในเวลานั้น เช่น เปลี่ยนชื่อประเทศจากสยามเป็นไทย ย้ายเมืองหลวงจากกรุงเทพฯ ไปอยู่เพชรบูรณ์ เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ 1 มกราคม เปลี่ยนการสะกดคำต่าง ๆ ในภาษาไทย ยกเลิกวิธีปฏิบัติหรือธรรมเนียมเดิม เช่น การกินหมาก นำวิธีปฏิบัติหรือธรรมเนียมใหม่มาใช้ เช่น ส่งเสริมให้กินก๋วยเตี๋ยว สามีจูบแก้มภริยาก่อนออกจากบ้าน สวมหมวกเมื่อออกจากบ้าน เพียงแต่ปัญหาบางอย่างที่ท่านเล็งเห็น ชาวบ้านอาจคิดตามท่านผู้นำไม่ทันก็ได้ ยิ่งในทางการเมือง ท่านเองก็มีศัตรู เมื่อบางอย่างทำไปในนามของวิสัยทัศน์ผู้นำแต่ดูท่านผู้นำจะได้ประโยชน์จากวิสัยทัศน์นั้นอยู่คนเดียว จึงกลายเป็นลัทธิสร้างบารมีส่วนบุคคลมากกว่า ในขณะที่คนอื่นซึ่งคิดอีกแบบทำอีกแบบกลายเป็นศัตรูไป นานเข้าจึงถูกหาว่าการคิดใหม่ทำใหม่ของท่าน “พิเรนทร์” ดังที่นักการเมืองท่านหนึ่งวิจารณ์ว่าถ้าเดินด้วยเท้าก็ดีอยู่แล้ว ทำไมต้องคิดใหม่ทำใหม่เอาหัวเดินต่างเท้าด้วยเล่า! สมัยนั้นยังไม่รู้จักคำว่าทุจริตเชิงนโยบาย ลงท้ายสิ่งที่ท่านคิดใหม่ทำใหม่ก็ไม่ยั่งยืน คนที่หมุนวงล้อกลับมาทำเก่าคิดเก่าเลยถูกใจพระเดชพระคุณมากกว่า

จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ก็ก้าวขึ้นมาเป็นนายกฯ พร้อมกับการคิดใหม่ทำใหม่เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ใหม่ ท่านตั้งโจทย์ในวันแรกว่าอยากเห็นกรุงเทพฯ เป็นอะไรภายในกี่ปี ต่างจังหวัดเป็นอะไรภายในเวลาเท่าใด ว่าแล้วท่านก็โหมตัดถนน สร้างเขื่อน สร้างสะพาน ตั้งกระทรวงพัฒนาการฯ ตั้งสภาพัฒนฯ ขยายความเจริญไปสู่ต่างจังหวัดกะจะเอาขอนแก่นเป็นโมเดลการพัฒนาของอีสาน เชียงใหม่เป็นโมเดลของภาคเหนือ และสงขลาเป็นโมเดลของภาคใต้ ไม่ใช่วิสัยทัศน์ของท่านหรอกหรือ หัวเมืองจึงเจริญขึ้นผิดหูผิดตา

สมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ท่านก็มีวิสัยทัศน์ทำให้อีสเทอร์น ซีบอร์ดหรือการพัฒนาท่าเรือฝั่งตะวันออกเกิด เศรษฐกิจของไทยมั่นคงขึ้นมากกว่าเดิมและการพัฒนาหลายอย่างมีความต่อเนื่อง

พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ อีกคนที่มีวิสัยทัศน์ผู้นำแบบใหม่ ที่จริงท่านเป็นคนแรกที่นำคำอันแสนธรรมดาว่า “คิดใหม่ทำใหม่” มาใช้เป็นศัพท์ราชการด้วยซ้ำ หลายอย่างได้คิดแต่ยังไม่มีโอกาสทำ เช่น การสร้างเมืองราชการแห่งใหม่ที่นครนายก หลายอย่างได้ลงมือทำไปแล้วแต่ผลยังไม่เกิดเต็มรูป เช่น การปฏิรูปกฎหมาย การปฏิรูประบบราชการ หลายอย่างได้ทำไปแล้วใช้งานแล้ว เช่น โครงการรักษาพยาบาล 30 บาทรักษาทุกโรค บ้านเอื้ออาทร สินค้าโอทอป ทุนการศึกษา 1 อำเภอ 1 ทุน บางอย่างทำแล้วเจ๊งแล้วโดนฟ้องไปแล้ว เช่น โครง การหวย 2 ตัว 3 ตัว

ความจริงเหตุการณ์ครั้งจอมพล ป.น่าจะเป็นบทเรียนที่นำมาเปรียบเทียบกันได้แม้จะไม่เหมือนกันทีเดียวนัก แต่สอนให้รู้ว่าการคิดใหม่ทำใหม่โชว์วิสัยทัศน์ใหม่นั้นจะมองแต่อนาคตเท่านั้นไม่ได้ ควรต้องเหลียวหลังมองบทเรียนจากอดีตและมองปัจจัยเกื้อกูล ปัจจัยล่อแหลมในปัจจุบันด้วย นายกฯ ทักษิณพลาดที่มองหน้าแต่ไม่เหลียวหลังบ้างเลย!

บิล เกตส์ ซึ่งเพิ่งได้รับรางวัลนักบริหารผู้มีวิสัยทัศน์กล่าวว่าการทำอะไรเพื่อสังคมเป็นความคิดที่ดี แต่ต้องรู้ว่าสังคมประกอบด้วยองค์ประกอบใดบ้าง เวลาทำจึงควรปรับให้เข้ากับองค์ประกอบนั้นหรือไม่ก็จงเปลี่ยนองค์ประกอบนั้นเสียก่อน การจะเป็นผู้นำที่เปลี่ยนแปลงสังคมถ้าทำด้วยการปฏิวัติสังคมคือใช้กำลังบังคับเปลี่ยนแปลงเสียเลยให้รู้แล้วรู้รอดอาจได้ผลสำเร็จไวแต่ก็เสี่ยงต่อผลข้างเคียงที่ไม่พึงปรารถนา เมื่ออยู่ในระบบที่ไม่อาจใช้กำลังบังคับให้ได้ดังใจเราก็ต้องทำใจที่จะเรียนรู้การอยู่กับระบบและสังคม แต่มิใช่ซังกะตายเดินตามสังคมต้อย ๆ หากแต่ค่อย ๆ ใช้ภาวะผู้นำนำสังคมให้เดินตามความคิดของตนด้วยกุศโลบายอันรอบคอบ แยบยล เหมาะควรแก่เหตุ ผล ตน ประมาณ กาล ประชุมชน และบุคคลที่พระเรียกว่าสัปปุริสธรรม 7 นั่นแหละ จะว่าใช้หลักเข้าใจเขา ให้เขาเข้าใจเรา เข้าถึงเขา เปิดให้เขาเข้าถึงเรา แล้วพัฒนาร่วมกันก็ได้คือเข้าใจ เข้าถึง และพัฒนานั่นเอง วิธีนี้ใช้เวลานานหน่อยแต่ช้าเป็นการ นานเป็นคุณ ทั้งต้องยึดความซื่อสัตย์สุจริตจริงใจเป็นที่ตั้ง คนถึงจะเชื่อว่าหมอนี่เอาจริง!

คนที่เขาทำสำเร็จมาแล้วเขาใช้หลักสระอาทั้ง 4 ในการนำทั้งนั้นคือ เวลา (ค่อย ๆ
ใช้เวลา) เสนา (มีผู้ช่วยหลายคนและใช้คนให้ถูกกับงาน) จักขุมา (ผู้นำมีวิสัยทัศน์) และมีธรรมา (ผู้นำมีคุณธรรม สุจริต จริงใจ ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน มีเมตตา ให้กำลังใจผู้อื่น ตัดสินใจรอบคอบ) ขาดสระอาหรือคุณอาทั้ง 4 เห็นจะไปไม่รอด จะใช้แต่ความเด็ดขาดทุบโต๊ะเปรี้ยงเป็นสูตรสำเร็จไม่ได้โดยเฉพาะในสมัยนี้ อย่างที่นายปรีดี พนมยงค์เคยพูดไงล่ะครับ เมื่อก่อนมีเวลาทำถมเถไปแต่ไม่มีอำนาจ ครั้นพอมีอำนาจก็ไม่มีเวลาพอ (ขาดเวลา) พลเอกชวลิต ยงใจยุทธ เป็นขงเบ้งให้ป๋าได้อย่างดี แต่พอตัวเองเป็นหัวหน้าเข้าบ้างก็ขาดคนเป็นขงเบ้งให้ (ขาดเสนา) บางคน (ไม่ได้ว่าใครนะเออ!) มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ แสนดี วจีเสนาะ แต่ไม่มีวิสัยทัศน์ (ขาดจักขุมา) ครั้นได้หัวหน้าที่มีจักขุมา จอมโปรเจคท์คิดใหม่ทำใหม่ทุกวัน ก็มีผลประโยชน์ทับซ้อนเสียอีก (ขาดธรรมา)

Leave a comment